อำนาจหน้าที่เทศบาลตำบลอุโมงค์
----------------------------------
ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2543) เทศบาลตำบลอุโมงค์ มีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังนี้
(1) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ
(3) รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะรวมทั้งการกำจัด มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(4) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
(5) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
(6) ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
*(7) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
*(8) บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
*(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
นอกจากนี้ เทศบาลตำบล อาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาลได้ ดังนี้
(1) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(2) ให้มีโรงฆ่าสัตว์
(3) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
(4) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
(5) บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
(6) ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้
(7) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(8) ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
(9) เทศพาณิชย์
วิสัยทัศน์การพัฒนาเทศบาลตำบลอุโมงค์
----------------------------------
“อุโมงค์เมืองของคนสุขภาพดี ทุกภาคีมีส่วนร่วม ศูนย์รวมแห่งภูมิปัญญา”
วิสัยทัศน์การพัฒนาข้างต้น แต่ละถ้อยคำมีความหมายดังนี้
อุโมงค์เมืองของคนสุขภาพดี หมายถึง ประชากรในพื้นที่ตำบลอุโมงค์ ทุกเพศทุกวัย จะต้องมีสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไขเจ็บต่าง ๆ สมกับคำที่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ( อโรคา ปรมา ลาภา ) ส่งเสริม บริการการป้องกันได้แก่ป้องกันเหตุแห่งสุขภาพ ดูแล และรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร
ทุกภาคีมีส่วนร่วม หมายถึง เปิดโอกาสให้กลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ในชุมชน หมู่บ้านทุกระดับ เช่น เยาวชน แม่บ้าน พ่อบ้าน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการกิจกรรมต่าง ๆ ของเทศบาล ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาสามารถตรวจสอบได้
ศูนย์รวมแห่งภูมิปัญญา หมายถึง อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาทุกแขนง ให้คงอยู่สู่เยาวชนคนรุ่นหลังและนำภูมิปัญญาเหล่านั้นมาปรับใช้ในวิถีชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และพัฒนาให้มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้เข้าถึงจิตวิญญาณของประชาชน นำภูมิปัญญามาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน ส่งเสริมทั้งภูมิปัญญาแห่งคุณธรรม จริยธรรมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
พันธกิจ (Mission)
----------------------------------
๑. พัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่อยู่เย็นเป็นสุข
หมายถึง การจัดให้มีสถานที่และมาตรฐานการดูแลด้านสุขภาพครบถ้วน พัฒนาและส่งเสริมให้ตำบลอุโมงค์ มีเอกลักษณ์ความเป็นชุมชนดั้งเดิม มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีน้ำใจอัธยาศัยไมตรีงาม ชุมชนเข้มแข็ง มีวัฒนธรรมความเชื่อ ประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตน มีความสงบร่มเย็น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาศัยทุนทางสังคมที่มีอยู่เป็นฐานการพัฒนา
๒. พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)
หมายถึง การตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นต่อ ๆ ไป การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตสำหรับลูกหลานและคนรุ่นหลัง (คู่มือการเสริมประสิทธิภาพการวางแผนและจัดการเมืองของท้องถิ่น หน้า ๖,๒๕๔๕) การส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นสังคมที่ยึดหลักศาสนาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต
๓. อนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรม และประเพณี
หมายถึง การพัฒนาตำบลอุโมงค์ ให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณี เพราะสังคมตำบลอุโมงค์ มีทุนทางสังคมทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นกระจายทั่วทุกชุมชน ทั้งนี้ จะต้องดึงศักยภาพของทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้สามารถรวมกลุ่มกันขึ้น โดยเทศบาล ให้การสนับสนุนด้านสถานที่งบประมาณให้กลุ่มคลังสมองดังกล่าว มีบทบาทในการเผยแพร่ ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นปัจจุบันให้สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดต่อไปได้
๔. พัฒนาและส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ หมายถึง การพัฒนาเมืองให้ก้าวไกลทันต่อการเปลี่ยนแปลง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเทศบาล และรัฐบาลได้คำนึงถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก โดยการที่จะสามารถพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการพัฒนาการศึกษา ให้มีคุณภาพก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะวิทยาการสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของเมืองให้สามารถแข่งขันในเวทีทั้งในระดับจังหวัด ประเทศ และระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เทศบาล จัดให้มีการพัฒนาด้านการศึกษาให้สามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด หรือเสรีการค้าได้ ทั้งนี้ ยังคงรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนในพื้นที่ตำบลอุโมงค์ การขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะทุนข้ามชาติ ดังนั้น จะต้องพัฒนาด้านการศึกษาคุณภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพรองรับตลาดแรงงานดังกล่าว พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างกว้างขวางควบคู่กับจังหวัดเชียงใหม่ และเมืองลำพูน เชื่อมโยงอย่างทั่วถึง
|