
ชื่อ ซอมพอ (หางนกยูงไทย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia pulcherrima (Linn.) Swartz
ชื่อสามัญ Barbados Pride, Dwarf Poinciana, Paradise Flower, Peacock’s Crest, Peacock Flower
ชื่ออื่น จำพอ ซำพอ ซมพอ ซอมพอ พญาไม้ผุ ส้มผ่อ ส้มพอ (ภาคเหนือ) ขวางยอย (นครราชสีมา) นกยูงไทย (ภาคกลาง) พจนานุกรม ฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้
หางนกยูง น. ชื่อพุมไม้ชนิด Caesalpinia Pulcherrima Swartz . ในวงค์ Leguminosae ลำต้นและกิ่งมีหนามดอกสีเหลือง สีแดงสีชมพู
หางนกยูงฝรั่ง น. ชื่อต้นไม้ขนาดใหญ่ ชนิด Delonix regia Raf ในวงค์ Leguminosae ลำต้นและกิ่งไม่มีหนามดอก สีแดง หรือ สีแสด ออกดอกปีละครั้ง ขณะออกดอก ผลัดใบ
ลักษณะหรือลักษณะพิเศษ
ไม้พุ่มสูง 1 – 2.5 เมตร ทรงพุ่มกลม ต้นเกลี้ยงหรือมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก สองชั้น ออกสลับ ช่อใบย่อยมีใบย่อย 7 – 11 คู่ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายมนหรือเว้า โคนเบี้ยวกว้าง 0.5 – 1.7 เซนติเมตร ยาว 1 – 2.5 เซนติเมตร ดอกมีหลายสีตามพันธุ์ ได้แก่ เหลือง แดง ส้ม ชมพูแก่ และแดงประขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 10 อัน ผลเป็นฝักแบนกว้าง 1.5 – 2 เซนติเมตร ยาว 10 – 12 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกได้มีเมล็ด 8 – 10 เมล็ด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
แหล่งที่พบ
พบตามบ้านทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท ตามสวนสาธารณะและถนน
ความสัมพันธ์กับชุมชน
ชาวบ้านปลูกต้นซอมพอไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ ใช้ดอกบูชาพระและเป็นสมุนไพรโดยใช้รากซอมพอดอกสีเหลืองต้มกับน้ำ แล้วใช้อมบรรเทาอาการปวดฟัน ส่วนรากของต้นดอกสีแดงปรุงเป็นยากินขับประจำเดือน นอกจากนี้ยังใช้ใบวางตามห้องหรือใกล้ตัวเพื่อกันแมลงหวี่ หรือใช้ใบแห้งจุดไฟให้มีควันเพื่อไล่แมลงหวี่
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
จำหน่ายต้นกล้าเพื่อเป็นไม้ประดับและจำหน่ายดอกเป็นรายได้เสริมสำหรับครอบครัว
หมายเหตุ : ซอมพอ หรือ ซอมภอ จาก…พจนานุกรมฉบับล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวงต้นนกยูง จาก พจนานุกรม ฉบับราชบันทิตยสถาน พ.ศ. 2525