ตำบลอุโมงค์ มีประวัติความเป็นที่ยาวนาน และเป็นชุมชนดั้งเดิม ด้านการปกครองในราว พ.ศ. ๒๔๕๙ ตำบลอุโมงค์ปกครองโดยขุนอุโมงค์ มนาทร (นายแก้ว พันธุ์อุโมงค์) ได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันคนแรกของตำบลอุโมงค์ และหมื่นนรสุขจรุง(นายบุญตัน ยาวุฒิ) เป็นกำนันคนที่ ๒ โดยการแต่งตั้งชื่อเป็น “ขุน” หรือ “หมื่น” ต่อมาได้ยกเลิกการแต่งตั้งชื่อดังกล่าว ให้ใช้ชื่อบุคคลตามปกติ อย่างไรก็ตามกำนันตำบลอุโมงค์ ได้รับการแต่งตั้งเรื่อยมาตามสภาพการเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัย และได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลตำบลอุโมงค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ จากนั้น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลอุโมงค์ จนถึงปัจจุบัน สำหรับชื่อของหมู่บ้าน (ชุมชน) ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุสืบต่อกันมา ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้มีที่มาแตกต่างกันดังนี้
(๑) ชุมชนบ้านอุโมงค์ เป็นชื่อแปลงมาจากคำว่า โอ้งโม่ง เป็นคำพื้นเมือง แปลว่า เป็นหลุมเป็นบ่อ อยู่บริเวณหน้าวัดอุโมงค์ บางท่านบอกว่าอยู่ที่ใต้พระวิหารวัดอุโมงค์ และมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าใต้พระเจดีย์มีอุโมงค์อยู่ภายใน ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งได้จาริกผ่านมาและพระธุดงค์ ได้มีนิมิตเห็นพระยานาคพิทักษ์รักษาสมบัติใต้อุโมงค์ไว้ ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ไปรบกวนอันอาจเป็นอันตรายจึงได้สร้างเจดีย์ครอบอุโมงค์ไว้ ต่อมได้มีการบูรณะและพัฒนาจนเป็นวัดอุโมงค์ในปัจจุบัน ชุมชนบ้านอุโมงค์ ในอดีตมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารมาปักหลักแดนเมืองเพื่อกำหนดเขตแดนแต่ละเมือง(เขตจังหวัด)และในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จมา ณ บ้านอุโมงค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนได้ตั้งพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณหน้าวัดอุโมงค์ในปัจจุบัน
(๒) ชุมชนบ้านกอม่วง เป็นชื่อของต้นมะม่วงฮี๊ตหรือมะม่วงขี้ยา เป็นมะม่วงต้นใหญ่ อยู่ที่หน้าวัดกอม่วงจึงได้ชื่อว่า บ้านกอม่วง เดิมเรียกบ้านปันปวกน้ำ เกิดจากน้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันจนเกิดน้ำวนและมีปวก(ฟอง)ลอยฟู ชุมชนบ้านกอม่วงมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ได้อนุรักษ์ไว้คือห้างนาเจ้าจักรคำ (ผู้ครองเมืองหริภุญไชยหรือจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น)
(๓) ชุมชนบ้านสับกับตอง มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อกับตองหลวงอยู่ที่บ้านสับกับตองเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ต่อมาจึงยึดเอาเป็นชื่อวัดสันกับตองและชื่อหมู่บ้าน ประชาชนนับถือทั้งศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
(๔) ชุมชนบ้านฮ่องกอก มาจากบริเวณดังกล่าวมีต้นกอกหลวงหลายคนโอบ และเชื่อว่าใต้ต้นกอกนั้นมีทรัพย์สมบัติฝังไว้จำนวนมาก และบริเวณหมู่บ้านมีต้นแหย่ง ขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งนำมาสานสาดแหย่ง(เสื่อ) สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
(๕) ชุมชนบ้านป่าเห็ว มาจากชื่อของต้นเห็วหลวง หรือต้นตะเคียนหมู เป็นไม้ยืนต้นขึ้นอยู่จำนวนมากบริเวณหมู่บ้านและพระอุโบสถวัดป่าเห็ว
(๖) ชุมชนบ้านป่าลาน มาจากชื่อ ต้นลานจำนวนมากจนเป็นป่าลานซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดป่าลาน (สุวรรณาราม)ในปัจจุบัน
(๗) ชุมชนบ้านเชตวัน (หนองหมู) เป็นชื่อซึ่งครูบาคำแสนพบอิฐจารึกคำว่า เชตวัน และพบหมูป่าออกมาหากินอยู่ในหนองน้ำเรียกว่าหนองหมูป่า จึงเรียนรวมกันว่าเชตวันหนองหมูตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของป่าช้าวัดเชตวัน(หนองหมู)ปัจจุบันอยู่ตรงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่ – ลำปาง
(๘) ชุมชนบ้านไร่ มาจากชื่อของคำว่า “บ้านไร่ – ปลายนา” เริ่มต้นจากการชุมชนอื่น ๆ มาทำสวนทำไร่อยู่ในพื้นที่และมีการสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยในไร่ด้วยเพื่อเฝ้าดูแลผลผลิตของตนเอง เป็นบ้านที่อยู่ในไร่ สวนและนา พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการทำสวนทำไร่ การเกษตร
(๙) ชุมชนบ้านป่าเส้า มาจากชื่อต้นเส้า เป็นป่าต้นเส้าขึ้นอยู่ทั่วไปจำนวนมากบริเวณหน้าวัดป่าเส้าปัจจุบัน ในอดีตสมัยสงครามบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) สถานีรถไฟป่าเส้า เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งในเหตุการณ์ในการรักษาอธิปไตยของประเทศชาติให้พ้นภัยจากการล่าอาณานิคมของประเทศญี่ปุ่นด้วย
(๑๐) ชุมชนบ้านชัยสถาน ในอดีตเล่ากันว่าพระนางเจ้าจามเทวีผู้ครองนครหริภุญไชย เสด็จมา ณ บ้านยางก่ายเกิ้ง ซึ่งมีต้นยางใหญ่ ๒ ต้น ล้มมาพาดกันอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดชัยสถานปัจจุบัน และพระนางเจ้าจามเทวีได้ตั้งทัพอยู่เป็นเวลานาน พอถึงฤดูแล้ง ไม่มีแหล่งเพียงพอจึงย้ายไปตั้งทัพแห่งใหม่ จึงเรียกอีกชื่อว่าบ้านหนองแล้ง และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “ชัยสถาน” เพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อท้าวชัยยะสัณฐาน (ต้นตระกูลวงค์สถาน) เป็นผู้อุปถัมภ์บูรณะวัดเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนาและส่วนรวม และรวมถึงชื่อของหมู่บ้านที่เป็นมงคลทำให้มีโชค มีชัย
(๑๑) ชุมชนบ้านแม่ร่องน้อย เป็นชื่อของคลองน้ำไหลขนาดเล็ก ไหลผ่านบริเวณหน้าวัดแม่ร่องน้อยในปัจจุบัน หรือบางครั้งมักเรียกว่าบ้านต้า(ท่าน้ำ) ในอดีตเป็นท่าเทียบเรือสำเภาขนาดเล็กขนส่งสินค้าทางน้ำก่อนเข้าตัวเมืองลำพูน ท่าอาบน้ำบริเวณหมู่บ้านอยู่ติดกับลำน้ำกวง